โครงการ “การศึกษาด้านแหล่งน้ำเพื่อการจัดการน้ำ ของลุ่มน้ำน่านเชิงกลยุทธ์”

หน้าจอแผนที่ข้อมูลพื้นที่ฐานและข้อมูลโครงการ
หน้าจอระบบสถานะ
แผนภูมิระบบแหล่งน้ำของลุ่มน้ำน่านสำหรับประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ (1)
แผนภูมิระบบแหล่งน้ำของลุ่มน้ำน่านสำหรับประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ (2)
แผนภูมิระบบแหล่งน้ำในลุ่มน้ำพื้นที่ภาคกลางตอนบน
ผังการคำนวณความต้องการใช้น้ำที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่
  1. ความเป็นมาและสภาพปัญหา

              ลุ่มน้ำน่านเป็นลุ่มน้ำหนึ่งที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ และปัญหาน้ำท่วม  จากอดีตที่ผ่านมาปริมาณฝนของลุ่มน้ำน่านในปีน้ำน้อย หรือปีแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในการทำนาปรัง จึงทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนน้ำในหลายโครงการชลประทาน แม้ว่าในลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนขนาดใหญ่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ ทำหน้าที่คอยเก็บกักน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง   พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่ในเขตโครงการชลประทาน และได้รับจัดสรรเป็นรอบด้วยปริมาณที่จำกัด ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเพาะปลูกพืชนาปรัง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็จะหันมาสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ระดับน้ำบาดาลไม่สามารถคืนสู่ภาวะสมดุลได้ และปริมาณน้ำบาดาลที่เคยสูบได้ในระดับชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นก็จะสูบน้ำได้น้อยลงหรือสูบไม่ได้เลย จึงส่งผลทำให้เกษตรกรก็จะต้องขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในชั้นน้ำบาดาลระดับที่ลึกกว่าเดิม ซึ่งทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกที่สูงขึ้น นอกจากนั้นในปีน้ำมากก็ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจากการไหลบ่าจากทั้งแม่น้ำน่านและยม   ระบบการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านเป็นการบริหารปริมาณน้ำต้นทุนหรือปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำจัดสรรได้ยังการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ  ถ้าดำเนินการบริหารจัดการอ่างฯ โดยไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบตามมาดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

              การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพอุทกวิทยาของลุ่มน้ำน่าน กล่าวคือ เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ ทำให้การปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่เคยดำเนินการมาในอดีต ในขณะเดียวกันความต้องการน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ก็จะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำเพื่อชลประทานที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ  และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันน้ำบาดาลก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ปริมาณน้ำที่เติมน้ำลงในพื้นที่เติมน้ำ และการใช้น้ำบาดาลอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากย่อมเปลี่ยนไปด้วย  ดังนั้นการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำในอนาคตจึงมีความยากลำบากในการดำเนินการมากขึ้น  เนื่องจากการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต้องดำเนินการภายใต้ความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติในอดีต และความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความซับซ้อนของความต้องการน้ำของผู้ใช้น้ำที่ขึ้นกับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

              นอกจากปัญหาที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ปัญหาการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำน่านเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญของลุ่มน้ำนี้  โดยเฉพาะขาดองค์กรบริหารจัดการน้ำที่เข็มแข็งทำให้การจัดสรรน้ำแก่ผู้ใช้น้ำไม่เป็นธรรม และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและคุณภาพน้ำ  มีปัญหาการบุกรุกทำลายป่าทำให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง ลุ่มน้ำสาขาส่วนใหญ่มีปัญหาการปนเปื้อนสารเคมี และน้ำเน่าเสีย เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการบังคับใช้กฎระเบียบ และกฎหมายอย่างจริงจัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่ในบางกรณีเช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ยังขาดกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหาย และเสียโอกาสในการใช้พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องร่างกฎหมายขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวนี้

              การบรรเทาปัญหาความขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำในเงื่อนไข จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสภาพปัญหาน้ำขาดแคลน สภาพน้ำท่วม และทิศทางการไหลของน้ำท่วม การใช้น้ำผิวดินร่วมกับน้ำบาดาล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำโดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำ และสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจในการวางแผนจัดการน้ำได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           

การจัดการน้ำของลุ่มน้ำเชิงกลยุทธ์เป็นการจัดการน้ำที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางด้านสังคมสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเกษตรกรรม ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการสามารถตอบสนองต่อระบบความต้องการของแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่/ปัจจัยใหม่ที่มากระทบในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำเชิงกลยุทธ์จะต้องพิจารณาในหลากหลายมิติประกอบกัน  ได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะระบบสังคมที่คำนึงถึงผลที่ได้รับหรือผลกระทบที่สะท้อนกลับมาว่ามีความมั่นคง (Security) ความยั่งยืน (Sustainability) และความมั่งคั่ง (Wealth) อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการน้ำของลุ่มน้ำในปัจจุบัน ดังนั้นการจัดการเชิงกลยุทธ์ของลุ่มน้ำ จึงเป็นการแสวงหาจุดยืนที่เหมาะสมในการพัฒนาจังหวัดทั้งในด้านยุทธศาสตร์น้ำและแผนการปฏิบัติ และการแสวงหาทิศทางและโอกาสด้านทรัพยากรน้ำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (รูปที่ 1)

จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุมร่วมกับภาคีต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน เรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำน่าน: ปัญหาและโจทย์วิจัยพื้นที่จังหวัดน่าน” เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2553 และการประชุมพิจารณากรอบวิจัยยุทธศาสตร์จังหวัดน่านเรื่อง “การฟื้นฟูรักษารักษาป่าต้นน้ำและการจัดการที่ดินเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จังหวัดน่าน” เมื่อ 25-26 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ทำให้ได้ประเด็นวิจัยต่าง ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำน่านที่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่ที่กำลังเผชิญอยู่และที่เป็นความเสี่ยงในอนาคต  ประเด็นวิจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษาด้านแหล่งน้ำเพื่อการจัดการน้ำของลุ่มน้ำเชิงกลยุทธ์ เพื่อตอบโจทย์หลักใน 3 เรื่องคือ

  1. inflow น้ำไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขปัจจุบัน และในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และเงื่อนไขใหม่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
  2. สัดส่วนการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำในลุ่มน้ำน่านเพื่อกิจกรรมการใช้ในลุ่มน้ำ และ เพื่อกิจกรรมการใช้นอกลุ่มน้ำ
  3. การจัดการอุปสงค์และอุปทานน้ำในอนาคตเพื่อเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน