การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยประเด็นวิจัยยุทธศาสตร์ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำ ที่ดิน และการจัดการสิ่งแวดล้อม” ครั้งที่ 1/2557
หัวข้อภาพอนาคตและประเด็นงานวิจัยการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและ
ความเชื่อมโยงระหว่างมิติความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงาน
วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2557
ณ อาคาร 3 ห้อง 213 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
ความเป็นมา
ปัจจุบันประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจ และสังคมสูงขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม งานวิจัยหลายจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงทรัพยากรน้ำ ทั้งในด้านปริมาณน้ำต้นทุน ความต้องการน้ำ และพิบัติภัยจากน้ำ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่ม การใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมและขาดการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผลให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน และปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมือง นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงจากการจัดการที่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนโดยตรง แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้มีผลงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลก การประเมินผลกระทบ และการศึกษาการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่บ้างพอสมควร เนื่องจากประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมีความจำเป็นต้องแข่งขันกับนานาชาติเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และต้องการข้อมูลที่ทันสมัยและมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งประเทศยังต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำเป็นต้องใช้ผลการวิจัยเพื่อเป็นฐานความรู้ประกอบการกำหนดมาตรการปรับตัว การวางแผนรองรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรองรับต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 – 2559 ได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม และในแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2557 – 2560 ซึ่ง สกว. ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบกำกับ การดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์การสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ (Country strategy) 3 ด้าน ได้แก่
1. การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Growth and Competitiveness)
2. การสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (Inclusive growth)
3. การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green growth)
โดยที่ยุทธศาสตร์ของ สกว. จะเน้นการสนับสนุนงานวิจัย การพัฒนานักวิจัย และพัฒนาระบบวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องเชื่อมประสานและผนึกกำลัง (Synergy) กันทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน เพื่อให้งานวิจัยได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นงานวิจัยที่มีดุลยภาพในการเติบโตด้านต่าง ๆไปด้วยกัน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Growth)
กำหนดการ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557