การจัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา โครงการการศึกษาการจัดการการแทรกตัวของน้ำเค็มเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา

การจัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา

โครงการการศึกษาการจัดการการแทรกตัวของน้ำเค็มเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา

(The Management Study of Salt Intrusion into Chao Phraya River)

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560   โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

 

ความเป็นมา

                แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของภาคกลาง ที่มีความสำคัญต่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร การอุตสาหกรรมและอื่นๆ ของประชาชนที่ใช้น้ำอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งของทุกปี แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้ไกลถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ค่าความเค็มในบางช่วงเวลาสูง เกิดผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภค การประปา การเกษตร และการประมง ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการวางแผนและจัดสรรน้ำโดยมีการจัดลำดับความสำคัญ กล่าวคือ เพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรและการอุตสาหกรรม ดังนี้มาอย่างต่อเนื่องเพื่อความสมดุล ทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนการควบคุมคุณภาพน้ำด้านความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในปี พ.ศ. 2535 กรมชลประทานได้เริ่มทำการตรวจวัดค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน โดยกำหนดจุดเฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร แม่น้ำท่าจีน ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี โดยกำหนดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวังไม่ให้เกิน 2.00 กรัมต่อลิตร(มาตรฐานค่าความเค็มสำหรับการเกษตร) ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้เปลี่ยนจุดเฝ้าระวังความเค็มจากสะพานพระพุทธยอดฟ้า มาเป็นที่ท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากสภาพการใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนไป มีพื้นที่ทำการเกษตรลดน้อยลงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและการอุตสาหกรรม ในขณะที่พื้นที่บริเวณจังหวัดนนทบุรียังมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่อย่างกว้างขวาง และการเลื่อนจุดเฝ้าระวังค่าความเค็มขึ้นมาจะช่วยลดปริมาณน้ำต้นทุนที่จะระบายลงมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มลงได้ จึงได้ใช้จุดเฝ้าระวังค่าความเค็มที่ท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรีนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองยังคงใช้จุดเฝ้าระวังค่าความเค็มจุดเดิม(กรมชลประทาน 2557)

                ในปี 2556 พบว่ามีฝนที่ตกบริเวณพื้นที่รับน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมทั้งปีของทั้งสองเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งรวมถึงน้อยกว่าปี 2548 และ 2553 ที่ประเทศไทยเกิดภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนปี 2557 ค่อนข้างน้อย อีกทั้งช่วงต้นปี 2557 ฝนยังคงตกน้อยต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ในทางตรงกันข้าม ช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรกลับเพาะปลูกพืชเกินจากแผนที่กรมชลประทานวางไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ชลประทานเกินจากแผน ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนจึงถูกสูบออกจากลำน้ำเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอเพื่อใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งปี 2557 เกิดสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำลำน้ำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการรุกล้ำที่เร็วกว่าปกติมาก (ปกติน้ำเค็มจะรุกล้ำช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี) รวมทั้งความเค็มเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างมากโดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการใช้น้ำด้านการเกษตรรวมทั้งการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค

        จากสภาพของการรุกล้ำน้ำเค็มดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบได้แก่

  • การรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้นจากอดีต ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน การเกษตร อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ
  • ปริมาณน้ำปัจจุบันที่จัดสรรเพื่อควบคุมความเค็ม 75 ลบ.ม./วินาที  ไม่เพียงพอ
  • การเพิ่มปริมาณน้ำที่จัดสรรเพื่อควบคุมความเค็มอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
  • การผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมายังแม่น้ำเจ้าพระยา อาจมีผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ 3000 ไร่ ใน อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งประสบปัญหาความเค็มอยู่แล้ว โดยมีค่าความเค็มตรวจวัดล่าสุดเท่ากับ  6 กรัม/ลิตร
  • ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มส่งแนวโน้มปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ....

        โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย

1)     หาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลและการแทรกตัวของน้ำเค็ม

2)     หาเกณฑ์การปล่อยน้ำที่เหมาะสม

3)     สรุปผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการแทรกตัวของน้ำเค็ม

4)     เสนอแนะมาตรการจัดการต่อการแทรกตัวของน้ำเค็มที่เหมาะสม

 

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุม

  1. รายงานผลการวิจัย วิเคราะห์ การแทรกตัวของน้ำเค็ม
  2. สรุปผลการสำรวจด้านเศรษฐกิจ สังคม จากภาคสนาม
  3. ขอความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษา
  4. ขอความเห็นเกี่ยวกับมาตราการที่แก้ไข  บรรเทา ป้องกัน (เพิ่มเติม)

 

 

 

 

กำหนดการประชุมนำเสนอผลการศึกษา

08.30-09.00 น.

 

ลงทะเบียน

09.00-09.10 น.

กล่าวแนะนำความเป็นมาของโครงการฯ และวัตถุประสงค์ของการประชุม

โดย รศ.ดร. สุจริต  คูณธนกุลวงศ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

09.10-9.45 น.

แนวทางการจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้ง ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง

โดย คุณเลิศชัย ศรีอนันต์

ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน

9.45-10.30 น.

ผลการศึกษาด้านอุทกวิทยา การสำรวจภาคสนามด้านชลศาสตร์

และการจำลองสภาพการไหลและการกระจายความเค็ม

และเกณฑ์การปล่อยน้ำ

โดย ดร.สุภัทรา วิเศษศรี/ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี

คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.30-10.45 น.

 

พักรับประทานอาหารว่าง

10.45-11.20 น.

ผลการสำรวจภาคสนามเกี่ยวกับผลกระทบจากความเค็ม

โดย ดร.เปี่ยมจันทร์ ดวงมณี

คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

11.20-12.00 น.

มาตรการการจัดการและบรรเทาปัญหาการแทรกตัวของน้ำเค็ม

โดย รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล / ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์

คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12.00-13.00

 

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00-15.00

 

แบ่งกลุ่มให้ความเห็นต่อผลการศึกษาและ

มาตราการจัดการต่อการแทรกตัวของน้ำเค็ม

15.00-15.15

 

พักรับประทานอาหารว่าง

15.15-15.45

 

สรุปผลการประชุม

15.45-16.00

 

ปิดการประชุม