การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา โครงการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ในอนาคตความล่อแหลม เปราะบางและการปรับตัวของภาคส่วนที่สำคัญ
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา
โครงการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ในอนาคตความล่อแหลม เปราะบางและการปรับตัวของภาคส่วนที่สำคัญ
วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560
ณ Watergate Ballroom C ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท (ประตูน้ำ) กรุงเทพฯ
1) หลักการและเหตุผล
เนื่องจากการคาดการณ์อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นการเตรียมการรับมือของแต่ละระบบและภาคส่วนต่างๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ต้องใช้แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหรือภาคส่วนโดยตรง แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อระบบชีวกายภาพต่างๆนั้น จะมีผลต่อความเสี่ยงของภาคส่วนที่พึ่งพาระบบต่างๆเหล่านั้น ดังนั้นการประเมินความเสี่ยง (Risk) ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจึงขึ้นกับโอกาสในการเปิดรับ (Exposure) ของระบบและภาคส่วน ซึ่งจะเสริมด้วยความอ่อนไหว (Sensitivity) ของระบบหรือภาคส่วนต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งนี้ระดับความเสี่ยงจะแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ เวลา ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่ระบบหรือภาคส่วนมีผลต่อกระทบต่างๆ รวมถึงสภาพที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ก็อาจมีผลต่อระดับ
ความอ่อนไหวต่อตัวแปรทางภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกันได้
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบ เข้ากับความเสี่ยงภายใต้ทิศทางการพัฒนาในอนาคต
ว่าจะสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสดงว่าระบบหรือภาคส่วนนั้นไม่มีความเปราะบาง (Vulnerable)
และมีศักยภาพในการรับมือ (Coping capacity) ได้เพียงพอแต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้ระบบหรือภาคส่วนนั้นๆ ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)
สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีพันธกรณีที่ต้องรายงานเรื่องความเปราะบาง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งในรายงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูลการดำเนินงานในด้านนี้
กับประเทศภาคีอื่นๆ ประเทศไทยได้จัดทำการศึกษาวิจัยและดำเนินการด้านความเปราะบาง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฯ
แต่จากการศึกษาเพื่อประกอบการจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 พบว่าข้อมูลที่มีอยู่มีค่อนข้างน้อย
และไม่เป็นเอกภาพ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้เห็นภาพเชิงองค์รวมทำได้เพียงในระดับที่จำกัด
ดังนั้น การวิเคราะห์ความเปราะบาง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะใช้ประกอบในรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงเป็นการปรับปรุงวิธีการศึกษา เพิ่มเติมข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์
ให้ครอบคลุมภาคส่วน และพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ มีความเปราะบาง ตลอดจนต้องการมาตรการ
ที่จะช่วยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
2) วัตถุประสงค์โครงการ
- ศึกษาผลกระทบ (Impact) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตต่อระบบหรือภาคส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
- ประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่จะมีต่อระบบหรือภาคส่วนที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น - ศึกษาความเปราะบาง (Vulnerability) ต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคตของระบบหรือภาคส่วนที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบสูง
- เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตของระบบหรือภาคส่วนที่มีศักยภาพในการรับมือ (Coping capacity) ต่อการเปลี่ยนแปลงน้อยและมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสูง
3) วัตถุประสงค์การจัดประชุม
การจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาของโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป
4) เป้าหมายการจัดประชุม
เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อเสนอต่อ UNFCCC
5) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปและนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อเสนอต่อ UNFCCC
6) กำหนดการ